เดินทางตามรอยมังงะและอนิเมะ!
มังงะและอนิเมะมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้คนทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่
แม้ว่าผลงานเหล่านี้จะเป็นเรื่องราวที่สมมติขึ้นมา แต่ก็มีสถานที่ในโลกแห่งความเป็นจริงบางแห่งที่ถูกนำมาใช้เป็นต้นแบบในการสร้างผลงาน ซึ่งในโทโฮคุและนีงาตะก็มีสถานที่จริงที่ถูกนำมาใช้ในมังงะและอนิเมะด้วย
ออกเดินทางตามรอยผลงานชิ้นโปรด เพื่อเปิดโลกของคุณให้กว้างขึ้นอีก!
เรื่องแรกที่อยากแนะนำคือ "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ" ผลงานยอดนิยมของอาจารย์ฮิโรฮิโกะ อารากิ ซึ่งซีรีส์มังงะชุดนี้มียอดพิมพ์รวมกว่า 100 ล้านเล่มแล้ว
ฉากในภาคที่ 4 และภาคที่ 8 "เมือง S ตำบล โมริโอ" ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ บ้านเกิดของอาจารย์อารากิ รวมถึงมีชื่อสถานที่และตัวละครอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเซนไดปรากฏอยู่ด้วย
ตัวอย่างเช่น พระเอกในภาค 4 ฮิงาชิคาตะ โจสุเกะ บ้านของเขาตั้งอยู่บน "วัดโจเซนจิ เมืองโมริโอ" ซึ่งก็คือถนนโจเซนจิ ถนนที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเซนได เมืองแห่งต้นไม้
นามสกุล "ฮิโรเสะ" ของ ฮิโรเสะ โคอิจิ ที่ปรากฏในภาคที่ 4 และ 5 และฮิโรเสะ ยาสุโฮะ ในภาคที่ 8 ก็ว่ากันว่าอาจมาจาก "แม่น้ำฮิโรเสะ" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเซนไดเช่นกัน
นอกจากนี้ หากมาเดินเล่นที่ใจกลางเมืองเซนไดอาจจะพบชื่ออื่นๆ เช่น "โคโตได" และ "คะเคียวอิน" ซึ่งแฟนๆ ของโจโจ้น่าจะดีใจหากได้พบเจอกับชื่อของสถานที่เหล่านี้
เว็บไซต์ทางการ "โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ"
https://jojo-portal.com/
การพรรณนาถึงธรรมชาติใน "Fishing Boy เจ้าหนูสิงห์นักตก" หนึ่งในการ์ตูนแนวธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งกล่าวกันว่ามีเมืองโยโคเตะ จังหวัดอาคิตะ บ้านเกิดของผู้เขียนอาจารย์ทาคาโอะ ยากุจิเป็นต้นแบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ซารุฮันไน เขตมาสุดะ เมืองโยโคเตะ บ้านเกิดของเขา ยังคงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ได้จวบจนทุกวันนี้ เมื่อได้มาเยี่ยมชมคุณจะรู้สึกได้ว่าได้ก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งผลงานของเขาแล้ว
นอกจากนี้ ในเขตมาสุดะยังมี "พิพิธภัณฑ์การ์ตูน เมืองโยโคเตะ มาสุดะ มังงะ" ซึ่งอาจารย์ยากุจิทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์ ผู้เข้าชมสามารถชมภาพวาดต้นฉบับอันทรงคุณค่าและการจัดแสดงเกี่ยวกับวัฒนธรรมมังงะในคอลเล็กชันของพิพิธภัณฑ์ได้
แม้ว่าอาจารย์ยากุจิจะเสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 แต่ภาพวาดธรรมชาติที่สวยงามและวัฒนธรรมการ์ตูนที่อาจารย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาจะยังคงติดตรึงในใจของแฟนๆ ที่มีอยู่มากมายตลอดไป
พิพิธภัณฑ์การ์ตูน เมืองโยโคเตะ มาสุดะ มังงะ
https://manga-museum.com/
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ใช้เมืองฮิโรซากิ จังหวัดอะโอโมริ เป็นฉาก "วันธรรมดาของแม่มดว้าวุ่น Flying Witch" เขียนโดยอาจารย์จิฮิโร่ อิชิซึกะ ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ในเมืองเดียวกัน
เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหลัก มาโกโตะ โควาตะ แม่มดฝึกหัดที่ย้ายมาที่เมืองฮิโรซากิที่ซึ่งญาติของเธออาศัยอยู่เพื่อฝึกหัดเป็นแม่มดเต็มตัว ในเรื่องยังปรากฎชื่อสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่อยู่ในเมืองฮิโรซากิหลายที่ด้วยกัน
สถานที่ที่เหล่าแฟนๆ นิยมเดินทางมาตามรอย คือ "สวนอนุสรณ์ฟูจิตะ คาเฟ่ไทโชโรมันทีรูม" ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับ "คาเฟ่คอนคอร์ซิโอ (Café Concorsio)"
ในเรื่องที่นี่เป็นร้านอาหารที่ดำเนินงานโดยแม่มด เมนูแนะนำคือแอปเปิลพายที่ปรากฏในเรื่องก็มีวางขายจริงๆ ที่นี่ด้วย
นอกจากนี้ ภายใน "สวนสาธารณะฮิโรซากิ" ที่ปรากฏอยู่ในอยู่ในเนื้อเรื่องก็มีสถานที่ให้มาตามรอยหลายแห่งด้วยกัน จึงเป็นอีกหนึ่งจุดที่ได้รับความนิยม
(*ปัจจุบันที่ตั้งของหอคอยปราสาทถูกเคลื่อนย้าย เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับปรุงโดยการย้ายโครงสร้าง)
สมาคมการท่องเที่ยวและการประชุมฮิโรซากิ
ตามรอยฉากใน "วันธรรมดาของแม่มดว้าวุ่น Flying Witch"
https://www.hirosaki-kanko.or.jp/web/edit.html?id=fc_flyingwitch
"ขบวนการวิหคสายฟ้า Gatchaman" ออกอากาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 1972 ต่อมาในปี ค.ศ. 2013 ได้ถูกนำกลับมาสร้างเป็นอนิเมชั่นโดยรีเมคใหม่ทั้งหมดในชื่อ "Gatchaman Crowds ขบวนการ กัชช่าแมน"
ต่อมาได้มีการนำอนิเมะยอดนิยมนี้มาทำภาคต่อ "Gatchaman Crowds Insight ขบวนการ กัชช่าแมน (ภาค2) " (ออกอากาศในปี 2015) โดยมีสถานที่จริงในเมืองนากาโอกะ จังหวัดนีงาตะเป็นฉากที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง
ทั้งนี้เป็นเพราะสึบาสะ มิสุดาจิ หนึ่งในตัวละครหลักในเรื่องนี้ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมในเมืองนากาโอกะ
ร้านค้าที่ปรากฏในตอนไคลแมกซ์ของตอนที่ 2 คือ "ริเวอร์ไซด์ เซนชู" สถานที่ที่มีอยู่จริงภายในเมือง บรรยากาศภายในอาคารที่ปรากฏในเรื่องก็วาดออกมาได้อย่างสมจริง
นอกจากนี้ในวิดีโอเปิดตัวก่อนที่จะฉายจริงมีการปรากฏภาพของ "ซิตี้ ฮอล พลาซ่า อะโอเระ นากาโอกะ" ซึ่งเป็นศูนย์รวมการปฏิสัมพันธ์ของชาวเมือง และสถานที่อื่นๆ รวมอยู่ด้วย
แนะนำสถานที่ในนากาโอกะ ขบวนการ กัชช่าแมน (ภาค2) ในนากาโอกะ
https://locanavi.jp/osusume/gatchaman/
แม้ว่าคุณจะกำลังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ความรู้สึกกลับเหมือนได้หลุดเข้าไปในโลกแห่งการ์ตูน 2 มิติ อาจกล่าวได้ว่าความรู้สึกความอิ่มเอมใจอย่างประหลาดนี้เป็นส่วนที่ดีที่สุดของการเดินทางตามรอยมังงะ-อะนิเมะที่คุณชื่นชอบ